เมื่อวันที่ 6 ส.ค. 2564 ที่ศาลาประชาคม ศาลากลางจังหวัดลำพูน นายอนุพงษ์ วาวงศ์มูล รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน พร้อมด้วย นายสุผล ตติยนันทพร นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดลำพูน และ แพทย์หญิง ภาวิณี เอี่ยมจันทน์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลลำพูน ร่วมแถลงสถานการณ์ โควิด-19 ในพื้นที่ จังหวัดลำพูน ประจำวันที่ 6 สิงหาคม 2564 ของจังหวัดลำพูน พบรายงานผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ภายในพื้นที่จังหวัดลำพูน จำนวน 13 ราย และรับผู้ป่วยมารักษาจากจังหวัดอื่น จำนวน 8 ราย ทำให้จังหวัดลำพูนมียอดสะสมตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน – 6 สิงหาคม 2564 สะสม 716 ราย มีผู้ป่วยเสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย ทำให้ยอดสะสมของผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 7 ราย รักษาหายแล้ว 458 ราย
แพทย์หญิง ภาวิณีฯ เปิดเผยว่า สำหรับจังหวัดลำพูน วันนี้มีผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 พักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลทั้งหมด 254 ราย มีเตียงว่างอยู่ทั้งหมด 182 เตียง แบ่งเป็น ใน ร.พ.ลำพูน 65 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 1 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจอัดอากาศแรงดันสูง 6 ราย มีผู้ป่วยปอดบวมทั้งหมด มี 56 ราย มีเสียชีวิตเพิ่มวันนี้ 1 ราย ร.พ.สนามใน ร.พ.ลำพูน สาขาเวียงยอง 104 ราย ร.พ.สนามใน ร.พ.ป่าซาง 25 ราย ร.พ.ลี้ 25 ราย ร.พ.บ้านโฮ่ง 10 ราย และ ร.พ.เอกชน 26 ราย
ทั้งนี้ ขอแจ้งเตือนในส่วนของผู้ที่ยังอาศัยอยู่ภายในบ้านพักหรือกำลังเฝ้าดูและสังเกตอาการ เนื่องจากที่ท่านเป็นผู้ที่อยู่ในวงเสี่ยง 1-2 ขออย่าให้ท่านนำยาฟ้าทลายโจนมาทาน เพราะตอนนี้มีการศึกษาพบว่า ตัวยาฟ้าทลายโจนไม่มีคุณสมบัติในการป้องกันเชื้อโควิด-19 ผู้ที่สามารถทานได้คือผู้ที่ป่วยติดเชื้อแล้วเท่านั้น หากมีอาการหวัด สามารถกินยาฟ้าทลายโจนได้อย่างน้อย 5 วัน อย่ารับประทานมากว่า 5 วันโดยเด็ดขาด เนื่องจากตอนนี้มีการศึกษาพบว่าตัวของยาฟ้าทลายโจนจะออกฤทธิ์ในการยับยั้งเอนไซม์ตัวหนึ่งของร่างกาย เอนไซม์ตัวนี้มีหน้าที่ในการกำจัดยาบางตัวที่เราทานอยู่ เมื่อยาฟ้าทลายโจนไปออกฤทธิ์ในการยับยั้งเอนไซม์ตัวนี้ ทำให้เอนไซม์ตัวไปยับยั้งและกำจัดยาตัวที่เรากินไม่ได้ สำหรับตัวยาที่ยาฟ้าทลายโจนไปออกฤทธิ์ในการยับยั้ง เช่น ยาวาร์ฟาริน (Warfarin) เป็นตัวยาที่ออกฤทธิ์ต้านการแข็งตัวของเลือด มีผลทำให้เลือดแข็งตัวช้ากว่าปกติ เพราะฉะนั้นพอเอนไซม์ตัวนี้ไปกำจัดยาวาร์ฟาริน (Warfarin) ไม่ได้ ก็จะทำให้ตัวของยาวาร์ฟาริน (Warfarin) ที่ป้องกันการแข็งตัวของเลือดมันสูงขึ้นในกระแสเลือด ก็จะทำให้มีเลือดออกได้ง่ายขึ้น หรือยาฟ้าทลายโจนจะไปป้องกันเอนไซม์ที่จะไปทำลายยาลดไขมัน พอเอนไซม์ตัวนี้ถูกระงับไปมันก็จะไปกำจัดตัวยาลดไขมันที่ออกฤทธิ์แล้วต้องขับออกจากร่างกายมันกำจัดไม่ได้ และพอกำจัดไม่ได้ตัวยาก็จะออกฤทธิ์สูงขึ้นทำให้ร่างกายเกิดกล้ามเนื้ออักเสบได้
“สำหรับเรื่องของโรงพยาบาลในเวลานี้ ได้มีการติดเชื้อโควิด-19 ของผู้ป่วยที่นอกพักรักษาตัวเองที่อยู่ในโรงพยาบาล ผู้ป่วยทุกรายที่จะเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลจะทำการตรวจคัดกรองเชื้อโควิด-19 ทุกราย ตอนช่วงแรกจะทำการตรวจโดยการใช้ RT-PCR แต่ในช่วงนี้ทางโรงพยาบาลได้เปลี่ยนเป็นการตรวจแบบ Antigen Test Kit แต่เมื่อผู้ป่วยเข้าพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลแล้วตอนแรกผลออกมาเป็นลบ ผู้ป่วยอาจจะสำผัสและรับเชื้อมาก่อนและวันที่เข้ามาตรวจและนอนโรงพยาบาลอาจจะมีน้อยมาก จึงไม่สามารถตรวจพบเชื้อ แต่พอนอนโรงพยาบาลมาหลายวันเชื้อเพิ่มขึ้น ทำให้ตอนนี้เจอผู้ป่วยที่มีเชื้อในโรงพยาบาล จำนวน 1 ราย และผู้ป่วยรายนั้นนอนรักษาอยู่ที่หอผู้ป่วยตึกสงฆ์ ชั้นที่ 4 ในช่วงวันที่ 20-26 กรกฎาคม ขณะนี้ทางโรงพยาบาลฯ กำลังตามผู้ป่วยทุกรายที่นอนพักรักษาตัวที่ตึกสงฆ์ชั้นที่ 4 วันที่ 20-26 กรกฎาคม เพื่อมาตรวจป้ายเชื้อและสังเกตอาการ หลังจากวันที่ 26 กรกฎาคม ได้ย้ายไปพักที่ห้องพิเศษ จากนั้นได้ย้ายไปพักรักษาตัวที่ ICU ศัลยกรรม แพทย์ พยาบาล ผู้ป่วยที่มีความเสี่ยก็จะทำการกักตัว และตรวจคัดกรองเชื้อทุกคน ดังนั้น ทางโรงพยาบาลลำพูนจึงประกาศ งดเยี่ยมทุกกรณี จนกว่าสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 จะคลี่คลาย”..ผู้อำนวยการโรงพยาบาลลำพูน เปิดเผยในที่สุด
ทางด้าน นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดลำพูน กล่าวว่า สำหรับวัคซีนโควิด-19 ของจังหวัดลำพูน ข้อมูล ณ วันนี้จังหวัดลำพูนฉีดวัคซีนโควิด-19 ไปแล้ว41,325 ราย คิดเป็น 25.68% ของยอดจองการฉีดวัคซีนทั้งหมด 160,920 คน สามารถฉีดเข็มที่ 1 ไปแล้วจำนวน 41,325 คน ฉีดเข็มที่ 2 จำนวน 9,201 คน และเข็มที่ 3 จำนวน 674 คน แต่ยอดที่จังหวัดลำพูนต้องฉีดวัคซีนโควิด-19 เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ ต้องทำการฉีดให้ได้ จำนวน 270,000 คน จากประชากรของจังหวัดลำพูนทั้งหมด 410,000 คน
ในส่วนของภาพรวมของจำนวนเตียงทั้งจังหวัดลำพูน จำนวนเตียงภาพรวมในส่วนของภาคราชการ มีจำนวน 401 เตียง ใช้ไปแล้ว 229 เตียง คิดเป็นร้อยละ 57 เปอร์เซนต์ สำหรับจำนวนเตียงรวมของ 3 โรงพยาบาลในภาคส่วนของเอกชน มีอยู่ 92 เตียง ใช้ไปแล้ว 25 เตียง