ศูนย์ข้อมูลโควิด-19 รายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ วันนี้ พบมีผู้ติดเชื้อเพิ่ม 6,978 ราย เสียชีวิตเพิ่มอีก 62 ราย กำลังรักษาอยู่ 96,463 ราย
วันนี้ (10 พ.ย.64) พญ.สุมณี วัชรสินธุ์ ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศบค. รายงานสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ประจำวัน โดยพบว่าวันนี้มีผู้ป่วยรายใหม่ 6,978 ราย แบ่งเป็น ผู้ป่วยจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 6,387 ราย ผู้ป่วยจากการค้นหาเชิงรุก 237 ราย จากเรือนจำ 346 ราย และผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 8 ราย รวมยอดผู้ป่วยสะสม 1,989,473 ราย อยู่อันดับที่ 24 ของโลก
ผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 62 ราย ยอดสะสม 19,826 ราย เป็นชาย29 ราย หญิง 33 ราย อายุระหว่าง9-102 ปี เป็นชาวไทย 58 ราย เมียนมา 4 ราย โดย อายุ 60 ปี ขึ้นไป 45 ราย อายุต่ำกว่า 60 ปี มีโรคเรื้อรัง 11 ราย ไม่มีประวัติโรคเรื้อรัง 4 รายเป็นเด็ก 2 ราย อายุ 9 ปีและ 13 ปี ไม่ได้รับวัคซีน
โดยจังหวัดภาคใต้เสียชีวิตรวมกันมากที่สุด 23 ราย ปัจจัยเสี่ยงต่อความรุนแรงของโรค ส่วนใหญ่มีโรคประจำตัว โรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน HPL โรคไต โรคอ้วน ติดเตียง ส่วนปัจจัยเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ติดเชื้อในพื้นที่ คนรู้จัก ครอบครัว อาศัยในพื้นที่ระบาด และอาชีพเสี่ยง
ผู้ป่วยรักษาหายเพิ่มขึ้น 7,697 ราย ยอดสะสม 1,873,184 ราย เหลือผู้ป่วยรักษาอยู่ 97,463 ราย ในจำนวนนี้มีอาการหนัก 1,877 ราย และต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ 423 ราย
ยอดการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้แก่ประชาชนตั้งแต่ประเทศไทยเริ่มฉีดวัคซีนโควิด-19 เมื่อวันที่ 28 ก.พ.64 จนถึง 9 พ.ย.64 พบว่า มียอดฉีดวัคซีนสะสมแล้ว 81,761,062 โดส แยกเป็น เข็มที่ 1 จำนวน 44,355,673 ราย และเข็มที่ 2 จำนวน 34,760,830 ราย เข็มที่ 3 จำนวน 2,644,559 ราย เฉพาะวันที่ 9 พ.ย. 64 ฉีดวัคซีนยอดรวม 792,255 ราย
จํานวนผู้ติดเชื้อโควิดในประเทศรายใหม่ วันนี้ 10 จังหวัดอันดับแรก 1.กรุงเทพมหานคร 864 ราย 2.สงขลา 479 ราย 3.เชียงใหม่ 380 ราย 4.ปัตตานี 356 ราย 5.สมุทรปราการ 233 ราย 6.นครศรีธรรมราช 224 ราย 7.ชลบุรี 203 ราย 8.ยะลา 202 ราย 9.นราธิวาส 192 ราย และ 10.สุราษฎร์ธานี 183 ราย
พญ.สุมณี ระบุว่า ภาพรวมผู้ติดเชื้อทั่วประเทศลดลงอย่างชัดเจน และสัดส่วนภาพรวมต่างจังหวัดอยู่ที่ 62% ชายแดนใต้ 18% กรุงเทพฯและปริมณฑล 20% สำหรับทิศทางแนวโน้มผู้ติดเชื้อในแต่ละภาค ประกอบด้วย ภาคกลางส่วนใหญ่มีทิศทางลดลง
แต่ที่ต้องเฝ้าระวังจากการติดเชื้อเป็นหลักหน่วยและหลักสิบ มี 2 จังหวัด คือ จังหวัดสิงห์บุรีและจังหวัดชัยนาท ส่วนภาคตะวันออก ส่วนใหญ่มีทิศทางลดลง มีจังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อเริ่มลดลงและทรงๆ คือ จังหวัดปราจีนบุรีและจังหวัดสระแก้ว
ขณะที่ภาคตะวันตก จังหวัดที่ยังคงต้องเฝ้าระวัง คือจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งทิศทางผู้ติดเชื้อยังไม่ลดลง ส่วนภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย จังหวัดที่ยังมีผู้ติดเชื้อทรงตัวคือ จังหวัดสุราษฎร์ธานีและจังหวัดพัทลุง
ส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราช จะเห็นว่ายอดของผู้ติดเชื้อลดลงจากจุดสูงสุดแต่ก็ต้องยังคงต้องมีการเฝ้าระวังต่อไป ขณะเดียวกัน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ยังคงต้องเฝ้าระวัง และจับตาที่จังหวัดสงขลาและจังหวัดปัตตานี เนื่องจากยังมีทิศทางคงที่ ไม่ได้มีผู้ติดเชื้อลดลง
ขณะเดียวกัน ภาคใต้ฝั่งอันดามัน จังหวัดที่มีแนวโน้มผู้ติดเชื้อลดลง คือ จังหวัดระนองและจังหวัดภูเก็ต ในขณะที่จังหวัดตรัง จังหวัดสตูล จังหวัดพังงา และจังหวัดกระบี่ ยังคงมีทิศทางแนวโน้มผู้ติดเชื้อทรงตัวและมีรายงานผู้ติดเชื้อเป็นหลักสิบ ส่วนภาคเหนือตอนบนจังหวัดที่พบผู้ติดเชื้อยังต่อเนื่องทิศทางแนวโน้มไม่ลดลง คือ จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดลำพูน จังหวัดแม่ฮ่องสอน และจังหวัดเชียงราย
สำหรับภาคเหนือตอนล่าง จังหวัดที่ยังต้องเฝ้าระวังคือ จังหวัดพิษณุโลก และภาคอีสานทั้งภาค อีสานตอนบนและภาคอีสานตอนล่าง ส่วนใหญ่ทุกจังหวัดมีทิศทางแนวโน้มผู้ติดเชื้อลดลง
นอกจากนี้ คลัสเตอร์ใหม่ในโรงงานและสถานประกอบการพบในหลายจังหวัด ประกอบด้วย กทม. เพชรบุรี ปราจีนบุรี ราชบุรี เชียงใหม่ สระแก้ว และสุราษฎร์ธานี ขณะที่คลัสเตอร์ตลาดพบที่ กทม. เชียงใหม่ ชลบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สระแก้ว กาญจนบุรี สุพรรณบุรี ฉะเชิงเทรา สุรินทร์ นครสวรรค์ ขอนแก่น ส่วนคลัสเตอร์พิธีกรรมทางศาสนา ทั้งงานบวชและทอดกฐิน คือ ที่ จ.ยโสธร ร้อยเอ็ด คลัสเตอร์งานศพพบที่ จ.พะเยา สระแก้ว เชียงใหม่ ขอนแก่น สุราษฎร์ธานี คลัสเตอร์แคมป์คนงานก่อสร้างพบที่ จ.เชียงใหม่ สุราษฎร์ธานี ลำพูน อุทัยธานี ประจวบคีรีขันธ์ กาญจนบุรี คลัสเตอร์เรือนจำพบที่ จ.นครราชสีมา กทม. ศรีสะเกษ เชียงใหม่ สุพรรณบุรี
กรณีศบค.จะมีข้อสรุปอนุญาตให้สามารถจัดงานวันลอยกระทงได้หรือไม่นั้น พญ.สุมณี กล่าวว่า จากที่ประชุมศบค.ชุดใหญ่ครั้งล่าสุดที่ผ่านมา ได้มีมติให้สามารถจัดงานเทศกาลลอยกระทงตามประเพณีได้ แต่แบ่งเป็น 2 กลุ่ม
คือแบบแรกถ้าเป็นการจัดงานขนาดเล็กในระดับบุคคลหรือในครอบครัวสามารถดำเนินการได้ภายใต้มาตรการUniversal Prevention ส่วนอีกแบบการจัดงานเทศกาลขนาดใหญ่แบบอีเว้นต์ เช่น การจัดงานลอยกระทงที่จังหวัดสุโขทัย หรือที่จังหวัดเชียงใหม่เทศกาลลอยยี่เป็ง จะต้องขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนั้นๆ
โดยให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดหรือคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพฯ กำกับดูแลการจัดงานในภาพรวมในพื้นที่ โดยนอกจากผู้จัดงานจะต้องมาขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดแล้ว คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดจะต้องกำกับดูแลทั้งส่วนผู้ที่มาขอจัดงาน และผู้ที่ไม่ได้มาขอจัดงานในระดับเล็กด้วย
โดยให้ยึดถือแนวทางและมาตรการตามที่กระทรวงวัฒนธรรมและกระทรวงสาธารณสุข รวมถึงหน่วยงานเกี่ยวข้องได้หารือร่วมกันและศบค.เห็นชอบ ซึ่งสามารถใช้ได้ทุกจังหวัดไม่ว่าจะอยู่ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) หรือพื้นที่ควบคุม (สีแดง) หรือพื้นที่อื่นๆสามารถจัดได้ทุกพื้นที่
อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 12 พ.ย. จะมีการประชุมศบค.ชุดใหญ่เพื่อพิจารณามาตรการที่ประชุมศบค.ได้ออกไปก่อนหน้านี้ เนื่องจากครบ 2 สัปดาห์ที่ต้องพิจารณาที่ออกไป.
ข้อมูลจาก ศูนย์ข้อมูล COVID-19