กนอ.คว้ารับรองมาตรฐานไอเอสโอ 4 ด้าน ภายในปีนี้
นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า กนอ.กำหนดวิสัยทัศน์ “นำนิคมอุตสาหกรรมสู่มาตรฐานสากล ด้วยนวัตกรรมอย่างยั่งยืน” จึงมุ่งมั่นบริหารจัดการนิคมอุตสาหกรรม เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ประกอบการ พนักงาน กนอ. ตลอดจนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน พร้อมทั้งยกระดับการดำเนินงานด้านความปลอดภัยและการให้บริการให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล
ในปี 2565 กนอ.ได้รับการรับรองมาตรฐาน International Organization for Standardization : ISO จากหน่วยงานตรวจประเมินภายนอก (Certifying body) ที่ประเมินในแต่ละด้าน ประกอบด้วย 1) มาตรฐาน ISO 27001 Information Security Management System (ISMS) ด้านระบบบริหารจัดการฐานข้อมูล (Data center ประเมินโดยบริษัท บีเอสไอ กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด 2) มาตรฐาน ISO 26000 ด้านความรับผิดชอบต่อสังคม (Social Responsibility for the scope of activities described) ประเมินโดยสถาบัน WCS (Thailand) ภายใต้องค์การระหว่างประเทศว่าด้วยระบบรับรองระบบงาน (IAF) 3) มาตรฐานการจัดการอาชีว อนามัยและความปลอดภัย (ISO 45001) ประเมินโดยบริษัท บีเอสไอ กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด และ 4) ระบบมาตรฐานบริหารคุณภาพ (ISO 9001) ประเมินโดยบริษัท บีเอสไอ กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด
กนอ.ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศที่สอดคล้องกับมาตรฐาน ISO 27001:2013 และระบบประเมินผลรัฐวิสาหกิจ (ฉบับปรับปรุง ปี 2565) โดยดำเนินโครงการพัฒนาระบบบริหารจัดการด้านความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศ ให้สอดคล้องกับแผนปฏิบัติการดิจิทัลของ กนอ.และเป้าหมายขององค์กรในการกำกับดูแลที่ดีด้านการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล
สำหรับมาตรฐาน ISO 26000 ด้านความรับผิดชอบต่อสังคมนั้น กนอ.นำหลักการตามมาตรฐานสากลมาเป็นกรอบการดำเนินงาน และเป็นแนวทางในการกำหนดกลยุทธ์และแผนงาน รวมถึงโครงการต่างๆ เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
ส่วนมาตรฐานการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย (ISO 45001) เป็นโครงการยกระดับนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ (ลำพูน) นิคมอุตสาหกรรมบางปู นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด และท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด เพื่อสร้างสุขอนามัยที่ดีและความปลอดภัยในสถานที่ทำงานเพื่อป้องกันการบาดเจ็บและเจ็บป่วยต่อสุขภาพจากการทำงาน
ขณะที่ระบบมาตรฐานบริหารคุณภาพ (ISO 9001) ดำเนินการภายใต้ยุทธศาสตร์ กนอ.ว่าด้วยการเสริมสร้างขีดความสามารถการแข่งขันของลูกค้าและนักลงทุน (Global Competitiveness Strategy) เพื่อพัฒนาศักยภาพ ขีดความสามารถในการให้บริการ ผู้ประกอบกิจการอย่างเป็นระบบ และสร้างมาตรฐานการอนุญาตให้เป็นไปตามมาตรฐานและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพิ่มความพึงพอใจของลูกค้า ซึ่งการดำเนินการโครงการดังกล่าวบรรลุตามเป้าหมายที่กำหนดไว้
“กนอ.มุ่งมั่นยกระดับนิคมอุตสาหกรรมที่ กนอ.ดำเนินการเอง ให้ได้รับการรับรองมาตรฐานในทุกด้าน โดยตามแผนการดำเนินงานปี 2566 นั้น ตั้งเป้ายกระดับนิคมอุตสาหกรรม จำนวน 10 แห่ง ก่อนที่จะดำเนินการให้ครบทุกนิคมอุตสาหกรรม ภายในปี 2567” นายวีริศกล่าวปิดท้าย
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก
Line @Matichon ได้ที่นี่