พระเด่นคนดังบ้านเมือง (23 ม.ค.65)
พระกริ่งนอก “พระกริ่งบาเก็ง”
อาจารย์เล็ก รูปหล่อ ปรมาจารย์ด้านพระกริ่ง เล่าว่า พระกริ่งบาเก็งค้นพบที่เขาพนมบาเก็ง ประเทศกัมพูชา ราวปี พ.ศ.2460-2468 ต่อมามีการพบในประเทศไทยเช่นที่ วัดมเหยงคณ์ และวัดสมณโกฏฐาราม อยุธยา สมัยนั้นจีนและเขมรค้าขายทางเรือกับประเทศไทยคงจะมีการนำพระกริ่งจีนนอกเข้ามาด้วย สมเด็จพระยาดำรงราชานุภาพท่านสันนิษฐานว่า เป็นพระสร้างจากเมืองจีนเนื่องจากศิลปะเป็นแบบจีนผู้สร้างปราสาทเขาพนมบาเก็งในสมัยนั้นคงเป็นผู้สร้าง ราวปี พ.ศ.1432-1453 ต่อมาในประเทศไทยเจ้าคุณศรี(สนธิ) วัดสุทัศน์ ถอดแบบสร้างพระกริ่งบาเก็งไว้หลายรุ่น เช่นพระกริ่งหลักชัย และวัดเอี่ยมวรนุชก็สร้างเป็นแบบพระกริ่งบาเก็งแบบเดียวกัน องค์ที่ลงให้ชมนี้เป็นพระกริ่งบาเก็งนอก สมัยราชวงศ์ถัง ของคุณสมพร ทันตะเวช (เล็ก รูปหล่อ) โทร.089-7928899
“พระพุทธรูปบูชาปางห้ามสมุทรสมัยลพบุรี”
พระพุทธรูปบูชาปางห้ามสมุทร บางท่านเรียกว่าปางห้ามญาติ ศิลปะสมัยลพบุรีอายุ 700-800 ปี ศิลปะแบบบายน เป็นปางที่พระพุทธเจ้าไปประกาศพระศาสนาที่เมืองอุรุเวลาเสนานิคม พระองค์ทำปาฏิหาริย์ห้ามน้ำไม่ให้ท่วมที่พระองค์ประทับ พระองค์เสด็จจงกรมภายในวงล้อมของน้ำทำให้หมู่มารทั้งหลายยอมเป็นศิษย์พระพุทธองค์ตั้งอยู่ในโอวาทขออุปสมบทเป็นภิกษุจึงเป็นที่มาของพระพุทธรูปปางนี้ พระพุทธรูปบูชาสมัยลพบุรีองค์นี้สูง 14 นิ้ว ของคุณวิกรานต์ ชุติมาภรณ์
“พระกริ่งหน้าอินเดีย เนื้อเมฆสิทธิ์ วัดอนงค์”
พระราชอากร อธิบดีกรมสรรพากรในขณะนั้น เป็นศิษย์หลวงพ่อทับวัดอนงคาราม รู้ถึงการสร้างพระกริ่งเกิดความศรัทธาได้กราบทูลสมเด็จพระสังฆราชแพ วัดสุทัศน์ ขอเนื้อเมฆสิทธิ์ของหลวงพ่อทับมาเทหล่อพระกริ่งเป็นกรณีพิเศษ เมื่อวันที่ 26 พ.ย.2482 มีการเทหล่อพระกริ่งเนื้อเมฆสิทธิ์ทั้งหน้าไทย หน้าอินเดีย และพระกริ่งนะโภคทรัพย์ พระกริ่งหน้าอินเดียเนื้อเมฆสิทธิ์องค์นี้ของ อี๊ด เมืองโบราณ โทร. 081- 6349657
“ฤๅษี หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า”
ฤๅษี หลวงปู่ศุขวัดปากคลองมะขามเฒ่าสร้างเมื่อใดไม่มีใครรู้แน่นอน สันนิษฐานว่าสร้างน้อยหายาก กล่าวกันว่าในคราวไหว้ครูเสด็จในกรมหลวงชุมพร ศิษย์หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่าได้ นำฤๅษีเนื้อชินตะกั่วมาร่วมเสกแจกเจ้านายชั้นสูงที่มาร่วมพิธี หลวงปู่ศุขมาเป็นประธานและปลุกเสก มีสองพิมพ์คือพิมพ์ฤๅษีบดยากับพิมพ์ฤๅษีสมาธิ องค์ที่ท่านชมอยู่นี้เป็นฤๅษีพิมพ์สมาธิ ของแดง บางบอน โทร.086-7754339
“เหรียญหล่อระฆังสองหน้า หลวงพ่อทบ – หลวงพ่อเขียน ปี 05”
ทนาย James LK นิติธร แก้วโต หรือ ทนายดารา เป็นหนึ่งในผู้สะสมพระสายตรงหลวงพ่อทบ หลวงพ่อเขียน โดยเฉพาะวัตถุมงคลหลวงพ่อเขียนแล้วไม่พลาดสะสมไว้ครบเกือบทุกรุ่นที่หลวงพ่อเขียนปลุกเสก ทนายเจมส์จึงเป็นผู้มีความรอบรู้ดูพระเป็นแยกแยะได้ไม่ต้องอาศัยตาใคร ซื้อได้ขายเอง ด้วยความรู้และประสบการณ์ความสามารถเฉพาะตัวที่ศึกษามาในฐานะคนพื้นที่และมีประสบการณ์กับพระเครื่องหลวงพ่อเขียนวัดถ้ำขุนเณร จังหวัดพิจิตร มาแล้วนับไม่ถ้วน เหรียญหล่อระฆังสองหน้า หลวงพ่อทบ-หลวงพ่อเขียน ปี 2505 เป็นพระจัดสร้างของช่างยุคเก่า งานหล่อโบราณเป็นหลักฐานแสดงถึงยุคสมัย ภูมิปัญญาชาวบ้าน ในยุคที่หลวงพ่อทั้งสองเป็นสหายกันมีชื่อเสียงโด่งดังด้วยกันทั้งคู่มาแต่ครั้งโบราณกาล ช่วงปี 2480-2507 องค์นี้อยู่กับทนายเจมส์ครับ
บอกข่าวเล่าแจ้ง…ในวันอาทิตย์ที่ 13 ก.พ.65 ทนายเจมส์เป็นประธานจัดประกวดพระเครื่อง ที่มหาวิทยาลัยกีฬาแห่งชาติ จ.เพชรบูรณ์
“รูปหล่อหลวงพ่อเงินบางคลาน พิมพ์ขี้ตาห้าชาย”
รูปหล่อหลวงพ่อเงิน บางคลานพิมพ์ขี้ตาห้าชายเป็นพิมพ์ที่ได้รับความนิยมสูงสุด องค์นี้ ใหญ่ สุรินทร์ บอกว่าแชมป์ออฟเดอะแชมป์ คมชัดทุกสัดส่วนไม่ผ่านการล้างหรือตกแต่ง แบบไม่ต้องส่องด้วยกล้องตาเปล่าดูก็แท้แล้ว ยังบอกมาอีกว่าสะสมพระต้องเล่นให้สุดๆเก็บพระแชมป์ไปหยุดเมื่อพบองค์แชมป์โลกครับ 084-8255452
“เสืองาแกะหลวงพ่อเฮง วัดเขาดิน”
เสืองาแกะ หลวงพ่อเฮง วัดเขาดิน นครสวรรค์ เป็นเกจิคณาจารย์รุ่นเก่า ท่านเกิดตั้งแต่ปี 2402 ท่านศึกษาเรื่องโหราศาสตร์ วิชาแพทย์แผนไทย วิชาอาคมต่างๆ หลวงพ่อเดินธุดงค์ปฏิบัติกรรมฐานจึงได้ไปพบงาช้างปักติดต้นไม้ หักคาอยู่ และหล่นอยู่ก็มี หลวงพ่อได้เก็บมาไว้ที่คนโบราณเรียกว่างากำจัดและงากำจาย และนำมาแกะเป็นคชสิงห์บ้าง เสือบ้าง รูปหมูโทนบ้าง แล้วท่านจึงปลุกเสกเป็นเครื่องรางที่หายากในปัจจุบันเพราะมีศิลปะที่งดงามมาก นอกจากตกทอดมาเป็นมรดก และหรือนำออกมาแบ่งปัน เสือหลวงพ่อเฮงวัดเขาดินตัวนี้ของ เสี่ยต่อ นครสวรรค์สวยแชมป์ มีใบการันตีพระแท้จากสมาคมฯครับ
“รูปหล่อหลวงพ่อเงินบางคลาน พิมพ์ขี้ตาสี่ชาย”
หลวงพ่อเงิน พุทธโชติ แห่งวัดบางคลาน เป็นเกจิคณาจารย์มีอาคมแก่กล้า จิตใจเปี่ยมด้วยเมตตากรุณา จึงมีลูกศิษย์ลูกหามากมายไปหาด้วยนับถือท่านในยุคสมัยนั้น ท่านสร้างวัตถุมงคลที่เป็นเนื้อโลหะที่ได้รับความนิยมสูงและโด่งดังก็คงเป็นรูปหล่อโบราณและเหรียญจอบเล็กใหญ่ รูปหล่อพิมพ์ขี้ตาสี่ชายองค์นี้ ของพลตรี เฉิดวิทย์ กองจินดา เป็นพระพิมพ์มาตรฐานสากลเนื้อพระทองผสม เป็นทองเหลืองยุคเก่า มีประกายสุกปลั่งไม่หม่นหมอง ผิวสีอ่อนสีแก่สลับกันไป เป็นธรรมชาติ ตามซอกมีคราบสนิมสีน้ำตาลดำด้านๆจับอยู่ ผู้การเฉิด เพิ่งเปิดตู้เซฟหยิบมาให้ได้ศึกษากันขอบคุณเจ้าของพระ
“เหรียญหล่อหลวงพ่อไปล่ วัดกำแพง”
หลวงพ่อไปล่เป็นชาวบางขุนเทียน ในสมัยรัชกาลที่ 4 เป็นศิษย์หลวงพ่อทัดวัดสิงห์ ช่วงวัยรุ่นชอบเรื่องบู้สู้ไม่ถอย มีงานวัดไหนยกพวกตีกัน นายไปล่เป็นลูกพี่นำทีมร่วมกันเรียกว่านักเลงหัวไม้ อายุครบบวชเข้าอุปสมบทที่วัดกำแพงบ้านเกิด มีอาจารย์ทัดเป็นอุปัชฌาย์ หลวงพ่อพ่วง วัดกกเป็นคู่สวด สนใจเรื่องวิชาอาคมมาแต่เด็กได้วิชาคงกระพันชาตรีจากหลวงพ่อคง เรียนวิชาเมตตามหานิยมกับหลวงพ่อพ่วง วัดกก เรียนสักยันต์กับหลวงพ่อดิษฐ์ วัดกำแพง ท่านสร้างเหรียญหล่อไว้ 2 พิมพ์ พิมพ์จอบและพิมพ์รูปไข่ องค์นี้เป็นพิมพ์จอบรุนแรก ปี 2448 ของ อ.นุ พระแท้เมืองสยาม นายกสมาคมส่องพระแท้เมืองสยาม
“อ.โกร่ง ศรีสวัสดิ์ เดินสายหลายเวที”
อ.โกร่ง ศรีสวัดิ์ เดินสายหลายเวทีทั้ง ทีวีและหน้าพระเครื่องออนไลน์ กล่าวว่าพระท่ากระดานคนโบราณเรียกขานตามชื่อวัดที่พบพระเครื่อง พระท่ากระดานพบที่วัดกลางหรือวัดท่ากระดาน “เป็นพระคู่กาย คู่ใจนักรบ มีไว้สุขกายสุขใจ อันตรายไม่มี” เนื้อตะกั่วอายุหลายร้อยปีจึงมีสนิมแดงเกิดขึ้นตามธรรมชาติ ในอดีตนักสะสมมักชอบนำพระท่ากระดานไปล้างผิวแคลเซียมให้เห็นแต่สนิมแดง รอยแตกมุ้งได้อย่างชัดเจน ปัจจุบันนิยมอนุรักษ์ผิวดั่งเดิมกันมากขึ้นซึ่งจะมีทองที่ปิดทับองค์พระ สนิมแดง และแคลเซียมจับหนาดูเป็นธรรมชาติคลาสสิก
“พระปิดตาเมืองคอน เนื้อทองแดงเถื่อน”
เมืองคอนหรือนครศรีธรรมราชมีประวัติยาวนานกว่ากรุงสุโขทัยที่เป็นราชธานีแห่งแรกของประเทศไทย ศาสนาพุทธเจริญรุ่งเรืองที่เมืองคอนมาก่อนกรุงสุโขทัย ทิ้งมรดกทางวัฒนธรรมสู่รุ่นลูกหลานถึงทุกวันนี้ เช่น พระพุทธรูปขนมต้ม พระกรุนาสน กรุวัดท่าเรือ วัดนางตรา กรุเขาขุนพนม พระปิดตาพังพกาฬ พระปิดตาดอกจันทน์ พระพิฆเนศ สำหรับพระปิดตาหรือพิมพ์ภควัมบดี มีทั้งใหญ่ กลางและเล็ก จะไม่มีองค์ไหนที่เหมือนกัน เนื่องจากยุคนั้นปั้นหรือทำทีละองค์ แต่สัญลักษณ์มีดอกจันทน์ทุกองค์ พระปิดตาเมืองคอน เนื้อทองแดงเถื่อนองค์นี้อยู่ในความครอบครองของ คุณธัลดล บุนนาค
“พระรอดลำพูน วัดมหาวันพิมพ์ใหญ่”
วัดมหาวันเป็นวัดเก่าแก่อายุกว่า 1,200 ปี เจดีย์เกิดพังลงจึงพบพระเครื่องเป็นพระรอด สันนิษฐานว่าชื่อนั้นเรียกตามพระบูชาที่ประดิษฐานอยู่ในวัดมหาวันมีพุทธลักษณะเดียวกัน พระรอดเป็นพระเนื้อดินเผาเป็นดินละเอียดจึงหนึกนุ่ม ได้รับความร้อนจากการเผาจึงมีสีแตกต่างกันไปบ้าง พระรอดเป็นพุทธปติมากรรมศิลปะแบบทวาราวดี-ศรีวิชัย สกุลช่างสมัยหริภุญไชย พบทั้งหมดแยกได้ 5 พิมพ์ พิมพ์ใหญ่ กลาง เล็ก ต้อ และพิมพ์ตื้น พระรอดวัดมหาวัน พิมพ์ใหญ่ จังหวัดลำพูนองค์นี้ของคุณ วริทธิ์ชัย วัชรประภา โทร.084-5646456