วันพฤหัสบดี ที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2564, 16.11 น.
โครงการเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา จ.เชียงใหม่ เป็นการก่อสร้างอุโมงค์ส่งน้ำในชั้นหินที่มีความยาวมากที่สุดในประเทศไทย ประมาณ 49 กิโลเมตร ทำหน้าที่ผันน้ำส่วนเกินช่วงฤดูน้ำหลาก ( เดือนกรกฎาคม – เดือนพฤศจิกายนของทุกปี ) ในลำน้ำแม่แตงผ่านอุโมงค์ช่วงแรกเรียกว่าอุโมงค์ส่งน้ำช่วงแม่แตง-แม่งัด ความยาวประมาณ 26 กิโลเมตร มาพักไว้ที่เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชลจากนั้นปริมาณน้ำส่วนนี้จะรวมกับปริมาณน้ำบางส่วนในเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล ส่งผ่านอุโมงค์ช่วงที่ 2 เรียกว่าอุโมงค์ส่งน้ำช่วงแม่งัด-แม่กวง ความยาวประมาณ 23 กิโลเมตร ไปลงเขื่อนแม่กวงอุดมธาราได้ปริมาณน้ำปีละ 160 ล้านลูกบาศก์เมตร “
“ จากการเติบโตด้านการท่องเที่ยว ภาคอุตสาหกรรมและการขยายตัวของชุมชนในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดลำพูนเป็นไปอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้มีความต้องการใช้น้ำในปริมาณที่สูงกว่าปริมาณน้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา ทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำเป็นปริมาณปีละ 137 ล้านลูกบาศก์เมตร และ ในอนาคต (20 ปีข้างหน้า) มีแนวโน้มว่าจะขาดแคลนน้ำมากถึงปีละ 173 ล้านลูกบาศก์เมตรเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของราษฎรในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดลำพูน และ เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำทั้งในด้านเกษตรกรรม อุปโภค-บริโภค การท่องเที่ยว และ อุตสาหกรรม กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงดำเนินโครงการเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธาราขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ฯ “
นายจิตะพล รอดพลอย ผู้อำนวยการสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 1 สำนักพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ กล่าวว่า โครงการเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา จังหวัดเชียงใหม่ เป็นการขุดเจาะอุโมงค์ในชั้นหินที่ยาวที่สุดในประเทศไทย ความยาวประมาณ 49 กิโลเมตร มีวิธีการขุดเจาะอยู่ 2 วิธีร่วมกัน วิธีที่ 1 จะเป็นการเจาะชั้นหินด้วยเครื่องเจาะอุโมงค์เรียกว่า TBM (Tunnel Boring Machine) ซึ่งนิยมใช้กันอย่างแพร่หลายในต่างประเทศ ลักษณะของหัวเจาะเป็นรูปทรงกระบอกที่มีหัวกัดหินอยู่ด้านหน้า มีจุดเด่นคือสามารถเจาะและประกอบผนังอุโมงค์ได้ในเวลาเดียวกัน ช่วยให้ประหยัดเวลาในการก่อสร้าง แต่ในกรณีที่ธรณีวิทยาของชั้นหินตามแนวอุโมงค์ไม่เหมาะสมกับการเจาะด้วย TBM เราจะใช้วิธีที่ 2 ร่วมในการขุดเจาะโดยจะเป็นวิธีแบบเจาะระเบิด Drill & Blast (D&B) เป็นการเจาะรูตามรูปแบบที่กำหนดโดยข้อมูลทางธรณีวิทยาของชั้นหิน และบรรจุวัตถุระเบิดในปริมาณให้เหมาะสม แรงระเบิดจะทำให้ชั้นหินแตกออกเป็นรูปอุโมงค์ตามขนาดที่ต้องการ และทำคอนกรีตดาดเป็นตัวปิดผิวผนังอุโมงค์
หากโครงการดังกล่าวก่อสร้างแล้วเสร็จ จะสามารถเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนของอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา ได้เฉลี่ยประมาณ 160 ล้านลูกบาศก์เมตรทั้งยังช่วยเพิ่มเสถียรภาพการส่งน้ำในช่วงฤดูฝนได้กว่า 175,000 ไร่ ของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเขื่อนแม่กวงอุดมธารา นอกจากนี้ ยังช่วยเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกในช่วงฤดูแล้งในเขตชลประทานของโครงการฯ จาก 17,060 ไร่ เป็น76,129 ไร่ และ ยังช่วยบรรเทาอุทกภัยในเขตตัวเมืองเชียงใหม่ได้ประมาณร้อยละ 70 รวมทั้งสามารถส่งน้ำไปช่วยพื้นที่ชลประทานของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่แตงได้อีกกว่า25 ล้านลูกบาศก์เมตร ช่วยเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกในช่วงฤดูแล้งของโครงการชลประทานแม่แตงได้อีกกว่า 14,550 ไร่
อนึ่ง โครงการเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา จังหวัดเชียงใหม่ เป็นโครงการขนาดใหญ่ที่สำคัญตามนโยบายของรัฐบาล โดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ และดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่หวังสร้างความมั่นคงด้านน้ำ โดยให้ทุกหน่วยงานร่วมบูรณาการการทำงานร่วมกันภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี
นายจิตะพล กล่าวอีกว่า ส่วนผลการเนินงานก่อสร้างอุโมงค์ส่งน้ำ ระหว่างวันที่ 23 กรกฎาคม – 30 กรกฎาคม 2564 ผลงานความก้าวหน้าทั้งโครงการฯ 61.882% เพิ่มขึ้นจากช่วงก่อน 0.199% โดยผลงานการก่อสร้างอุโมงค์ส่งน้ำช่วงแม่งัด – แม่กวง ผลงานรวม 62.655% เพิ่มขึ้นจากช่วงก่อน 0.027% งานก่อสร้างอุโมงค์ส่งน้ำช่วงแม่งัด – แม่กวง สัญญาที่ 1 ความยาวอุโมงค์รวมทั้งสิ้น 12,500 เมตร บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล็อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้รับจ้าง ผลงานการก่อสร้าง 32.570% เพิ่มขึ้นจากช่วงก่อน 0.050% และงานก่อสร้างอุโมงค์ส่งน้ำช่วงแม่งัด – แม่กวง สัญญาที่ 2 ความยาวอุโมงค์รวมทั้งสิ้น 10,472.683 เมตร บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นผู้รับจ้าง ผลงานการก่อสร้างแล้วเสร็จ 100%
สำหรับผลการดำเนินงานก่อสร้างอุโมงค์ส่งน้ำช่วงแม่แตง – แม่งัด ผลงานการก่อสร้างรวม 61.229% เพิ่มขึ้นจากช่วงก่อน 0.345 % งานก่อสร้างอุโมงค์ส่งน้ำช่วงแม่แตง-แม่งัด สัญญาที่1 ความยาวอุโมงค์รวมทั้งสิ้น 13,600 เมตร บริษัท ไรท์ทัลเนลลิ่ง จำกัด เป็นผู้รับจ้าง ผลงานการก่อสร้าง 75.807% เพิ่มขึ้นจากช่วงก่อน 0.620% และ งานก่อสร้างอุโมงค์ส่งน้ำช่วงแม่แตง-แม่งัด สัญญาที่ 2 ความยาวอุโมงค์รวมทั้งสิ้น 12,024 เมตร ผลงานการ ก่อสร้าง 43.133% เพิ่มขึ้นจากช่วงก่อน 0.003% บริษัท สยามพันธุ์วัฒนา จำกัด (มหาชน) เป็นผู้รับจ้าง การเร่งรัดติดตามการก่อสร้างในทุกสัญญามีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ปัญหาอุปสรรคที่พบในแต่ละสัญญาทั้ง 4 สัญญามีความแตกต่างกัน อาทิ การขุดเจอโพรงถ้ำใต้ดินขนาดใหญ่ การขุดเจอธารน้ำใต้ดิน ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องแก้ปัญหาเป็นรายกรณีไป ทั้งเจ้าหน้าที่กรมชลประทานเอง ทั้งคณะที่ปรึกษา ได้ร่วมกันแก้ไขปัญหาร่วมกับผู้รับจ้าง รวมถึงคณะกรรมการ เร่งรัด ติดตามงานก่อสร้างฯ ได้มีการเร่งรัดติดตามการก่อสร้างอย่างใกล้ชิด และ จะมีการรายงานผลการดำเนินงานเป็นระยะอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากเกิดปัญหาจะได้หามาตรการแก้ไขได้ทันเวลาและติดตามการดำเนินงานให้เสร็จตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญา นายจิตะพล กล่าว.