วันศุกร์ที่ 9 กรกฎาคม 2564 ฝ่ายกิจการสาขาภาคเหนือตอนบน สำนักงานจังหวัดเชียงใหม่ เปิดโครงการพัฒนาการตลาดเพิ่มมูลค่าลำไยตลอดห่วงโซ่ (Area Based)และโครงการพัฒนาลูกค้ามืออาชีพ (Smart Developer) โดยมี นายมาโนช บัวองค์ ผู้อำนวยการฝ่ายกิจการสาขาภาคเหนือตอนบน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ให้เกียรติเป็นประธานกล่าวเปิดงาน พร้อมด้วย นายสนอง ชัยชนะ ผู้อำนวยการสำนักงาน ธ.ก.ส.จังหวัดเชียงใหม่ นายกลศาสตร์ เรืองแสน ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงาน ธกส.จังหวัดเชียงใหม่ นายดำริ ขวัญสุวรรณ ผู้จัดการเขต
สำนักงานเขตภาคเหนือตอนบน บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.)นายเสน่ห์ ทะพิงค์แก ประธานกลุ่มวิสาหกิจแปลงใหญ่ลำไย เกษตรกร ผู้ปลูกลำไย ผู้ประกอบการ ร่วมงาน ณ ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร อำเภอสารภี บ้านหัวดง หมู่ 7 ต.ขัวมุง อ.สารภี จ.เชียงใหม่
นายมาโนช บัวองค์ ผู้อำนวยการฝ่ายกิจการสาขาภาคเหนือตอนบน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่าฝ่ายกิจการสาขาภาคเหนือตอนบน สำนักงานจังหวัดเชียงใหม่ เนื่องจากสถานการณ์ลำไยปี 2564 นี้ คาดการณ์ผลผลิตลำไย (ในฤดู) จำนวน 683,435 ตัน และจะออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมากในเดือนสิงหาคม โดยพื้นที่ปลูกหลักของภาคเหนือตอนบน ได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน เชียงราย พะเยา และน่าน จากการรวบรวมข้อมูลผู้ประกอบการโดย ธ.ก.ส. เบื้องต้นมีความต้องการเงินทุนเพื่อรับซื้อลำไยสดทั้งลำไยสดรูดร่วงและลำไยสดช่อ แล้วนำไปแปรรูป เป็นลำไยอบแห้งทั้งเปลือก
ดังนั้นจึงได้เปิดโครงการพัฒนาการตลาดเพิ่มมูลค่าลำไยตลอดห่วงโซ่ (Area Based) และโครงการพัฒนาลูกค้ามืออาชีพ (Smart Developer) ในครั้งนี้ เป็นการแลกเปลี่ยนแนวคิดเพื่อต่อยอดและปรับเปลี่ยนการผลิตลำไยคุณภาพตลอดห่วงโซ่ ตั้งแต่เรื่องการบริหารจัดการแปลงที่มีคุณภาพ (Best Practice) การเชื่อมโยงธุรกิจการผลิตสินค้าเกษตร การเชื่อมโยงตลาดลำไยภายในประเทศและต่างประเทศ จนถึงเรื่องการเพิ่มมูลค่าลำไย ซึ่งจะช่วยให้กลุ่มและเกษตรกรผู้ปลูกลำไยสามารถ ดำเนินธุรกิจให้มีศักยภาพพร้อมแข่งขันในสถานการณ์ปัจจุบันและอนาคต
นอกจากนี้ ธ.ก.ส.ได้เตรียมการที่จะอำนวยสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องแก่ผู้ประกอบการตลอดห่วงโซ่การผลิตลำไย ทั้งกลางน้ำ ปลายน้ำ นอกเหนือไปจากการสนับสนุนสินเชื่อแล้ว ธ.ก.ส.แต่ละจังหวัดได้เข้าร่วมในแผนการบริหารจัดการลำไย ในส่วนการกระจายผลผลิตภายในประเทศและการเชื่อมโยงผู้ผลิตกับตลาดแบบออนไลน์ร่วมกับเครือข่าย เช่น ร่วมกับไปรษณีย์ไทย จำหน่ายลำไยคุณภาพเกรดพรีเมี่ยมผ่านทาง Thailandpostmart โดยวางเป้าหมายไว้เบื้องต้นจำนวน 4,145 ตัน ในขณะที่การส่งเสริมการผลิตลำไยให้ได้ลำไยที่มีคุณภาพ ลดต้นทุนการผลิตลง ได้รับผลตอบแทนที่เหมาะสม มีความยั่งยืนในการประกอบอาชีพนั้น ก็ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เพื่อส่งเสริมการปลูกลำไย โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมอีกส่วนหนึ่งด้วย