ประเดิมปีศักราชใหม่ 2565 ปีเสือทอง ที่ใครๆต่างตั้งความหวังที่จะอยู่ดีกินดีมากขึ้น การจับจ่ายใช้สอยสะดวกสบายมากขึ้น สมกับที่รัฐบาลประกาศว่าเป็นปีที่คนไทยทุกคนจะมีความสุข สมหวังทุกประการ!!!
แต่ไฉนกลายเป็นความทุกข์ที่ประชาชนได้รับจากการที่ราคาสินค้าที่ใช้เลี้ยงปาก เลี้ยงท้อง พาเหรดขึ้นราคากับสะบันหั่นแหลก โดยเฉพาะราคา “เนื้อหมู” ที่ปรับขึ้นชนิดที่ตั้งแต่พ่อค้า แม่ค้า ประชาชนทั่วไปต้องร้องจ๊าก!!!
ตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา จนถึง ณ เวลานี้ ราคาเนื้อหมูได้ปรับขึ้น ซึ่งจากการสำรวจราคาเนื้อหมูหน้าแผง ใน “ตลาดค้าส่งขนาดใหญ่ในจังหวัดชลบุรี” พบว่า หมูสามชั้นกิโลกรัมละ 230 บาท สะโพกหมูกิโลกรัมละ 175 บาท สันคอหมูกิโลกรัมละ 185 บาท สันนอกหมูกิโลกรัมละ 185 บาท ซี่โครงกิโลกรัมละ 160 บาท ซี่โครงอ่อนกิโลกรัมละ 200 บาท และกระดูกใบพายกิโลกรัมละ 190 บาท
หรือที่ “ตลาดสี่มุมเมือง” ราคาเนื้อหมู พบว่า หมูสามชั้นกิโลกรัมละ 200 บาท หมูเนื้อแดงกิโลกรัมละ 170 บาท และ หมูบดกิโลกรัมละ 150 บาท
ที่ “ตลาดไท” โดย “นายอาคม พึ่งผล” เจ้าของเขียงหมูเทวดา กล่าวว่า สาเหตุที่หมูราคาแพงนั้นตนเองซื้อหมูเป็นจากฟาร์ม กก.ละ 140 บาท นำมาขายเป็นหมูชำแหละ กก.ละ 240 บาท เนื่องจากว่าต้องเสียค่าเข้าโรงเชือดเกือบ กก.ละ 100 บาท ซึ่งก่อนนั้นเคยซื้อหมูเป็น กก.ละ 70 บาท เท่านั้น และปัจจัยที่ทำให้หมูราคาแพง เนื่องจากจำนวนหมูในฟาร์มมีจำนวนลดลง เกิดมาจากเกิดโรคระบาดในฟาร์มหมู ตนมองว่าราคาหมูชำแหละที่น่าเขียงคงจะไม่อยู่ที่ราคา 240 บาท อาจจะขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งราคาในท้องตลาดในแต่ละวันจะขึ้นลงอยู่ตลอด แต่ก็คงไม่ต่ำกว่า 240 บาทแน่นอน ก็คงต้องวอนไปทางรัฐบาลว่าจะช่วยแก้ปัญหาเรื่องราคาหมูแพงอย่างไร
ทั้งนี้จากการสอบถาม “ผู้ประกอบการฟาร์มหมู” บอกว่า ต้องแบกภาระต้นทุนด้านการเลี้ยงไม่ไหวจึงตัดสินใจปล่อยฟาร์มร้าง ทำให้หมูขาดตลาด และ 2. ผู้เลี้ยงสุกรต้องใช้เงินลงทุนในระบบป้องกันโรค หรือ Biosecurity สูงมาก ทำให้มีต้นทุนส่วนนี้เพิ่มถึงตัวละ 500 บาท
และ “นายสนั่น พยัคฆศักดิ์” ประธานกรรมการ สหกรณ์ผู้เลี้ยงสุกรเชียงใหม่-ลำพูน ระบุว่า เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรกำลังตกอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบากที่สุดในอาชีพ จากผลกระทบของภาวะโรคในสุกร โดยเกษตรกรในภาคเหนือต้องหยุดการเลี้ยงสุกรไปแล้วมากกว่า 80% เหลือเพียง 20% ที่สามารถเลี้ยงสุกรได้ต่อไป แต่เป็นการเลี้ยงไม่เต็มกำลังการผลิต เพื่อลดความเสี่ยงจากภาวะโรค ทำให้ปริมาณผลผลิตสุกรขุนในเขตภาคเหนือขาดแคลนอย่างหนักนั้น
ขณะที่ “แม่ค้าหมูในตลาด” รายหนึ่ง กล่าวว่า คาดว่าราคาเนื้อหมูจะขึ้นแบบนี้ไปจนถึงช่วงตรุษจีน 2565 ซึ่งอีกไม่กี่อาทิตย์ก็จะถึงแล้ว ก็อยากให้รัฐบาลลงมาดูแลเรื่องราคาหมูในตอนนี้ เพราะผลกระทบไม่ใช่เกิดแค่เกษตรกร พ่อค้า แม่ค้า อย่างเดียว แต่มันกระทบยังประชาชนที่หาเช้ากินค่ำด้วย เนื่องจากอาหารที่มีหมูเป็นส่วนประกอบจะปรับราคาขึ้น 5- 15 บาท หรือถ้าไม่ปรับราคาก็จะลดปริมาณหมูน้อยลง
เช่นเดียวกับ “แม่ค้าหมูปิ้ง” กล่าวว่า ปกติแล้วหมูราคา 110-120 บาท ตนเองขายอยู่ที่ไม้ละ 5 บาท ตอนนี้ราคาหมูขึ้นตนเองจำเป็นต้องปรับราคาขึ้นเป็นไม้ละ 7 บาท ทั้งๆที่ตนเองขายหมูปิ้งมากว่า 20 ปี ตั้งแต่หมูราคา 80 บาท ซึ่งก็เห็นใจลูกค้ามากเศรษฐกิจย่ำแย่ ประชาชนก็ลำบากอยู่แล้ว แต่ถ้าไม่ขึ้นเราก็อยู่ไม่ได้ ซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่ก็เข้าใจเพราะรู้ว่าราคาวัตถุดิบขึ้น บางคนก็จะหันไปซื้อไก่ย่างแทน
ด้านแม่ค้าขายเนื้อหมูในเขตเทศบาลนครนครสวรรค์ กล่าวว่า ตั้งแต่ขายหมูมาก็ไม่เคยเห็นว่าราคาหมูจะปรับขึ้นรวดเร็วเช่นนี้มาก่อน แน่นอนว่ามันต้องกระทบกับยอดขายในทุกๆ วัน เพราะลูกค้าซื้อน้อยลง จากเดิมเคยซื้อ 1 กิโลกรัม ก็ปรับมาเหลือเพียงครึ่งกิโลกรัม บางคนซื้อแค่ 2-3 ขีดก็มี ทำให้ยอดหายไปเกือบ 40%
ส่วนหน่วยงานรับผิดชอบในเรื่องราคาสินค้า “กรมการค้าภายใน” ออกมาแสดงความเห็นราคาเนื้อหมูแพงว่า จากการหารือกับสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ พบว่า ขณะนี้ปริมาณหมูที่เข้าสู่ตลาดลดลง ทำให้มีพ่อค้าเสนอแข่งราคารับซื้อสูงขึ้น กรมฯได้ขอความร่วมมือให้ผู้เลี้ยงสุกรจำหน่ายให้กับผู้ค้ารายเดิมเป็นลำดับแรก และกรมฯ ยังจะกำหนดมาตรการดูแลปริมาณและราคาที่เหมาะสมต่อไป
นอกจากนี้กรมฯได้ขอความร่วมมือ ผู้ประกอบการค้าปลีกโมเดิร์นเทรด ยืดเวลาตรึงราคาจำหน่ายหมูเนื้อแดง 150 บาท/กก. ต่อไปอีก 15 วันถึงวันที่ 15 ม.ค. 2565 พร้อมเร่งช่วยเหลือประชาชนโดยการจัดพื้นที่จำหน่ายหมูธงฟ้า 150 บาท/กก. 600 จุดทั่วประเทศ แก้ปัญหาราคาหมูปรับสูงขึ้น เพื่อช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพของประชาชน และตรึงราคาในเบื้องต้น โดยปรับราคาจำหน่ายให้สอดคล้องกับต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น เพื่อไม่ให้กระทบต่อกลไกตลาด และกระทบต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรน้อยที่สุด พร้อมติดตามและประเมินสถานการณ์เป็นระยะ เพื่อขยายโครงการในระยะต่อไป
ตอกย้ำด้วย “พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สั่งกำชับให้กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เร่งดูแลแก้ปัญหาราคาเนื้อหมูแพงตั้งแต่ต้นทาง-ปลายทาง เพื่อลดผลกระทบราคาหมูแพงโดยไม่ให้เสียกลไกตลาด โดยกระทรวงพาณิชย์ ได้ขยายโครงการพาณิชย์ลดราคา (หมูเนื้อแดง) พร้อมให้พาณิชย์จังหวัด ติดตามสถานการณ์การจำหน่ายอย่างใกล้ชิด เข้มงวดผู้ขายในตลาดปิดป้ายแสดงราคา และ ขอความร่วมมือห้างค้าปลีก-ค้าส่ง ช่วยตรึงราคาจำหน่ายหมูเนื้อแดง ออกไปอีกระยะหนึ่ง
รวมถึงมอบหมายคณะกรรมการพิกบอร์ด เร่งหาแนวทางช่วยเหลือผู้เลี้ยงสุกรตั้งแต่ต้นทุนการผลิตสุกร สนับสนุนการพัฒนาวัคซีนหมู เพื่อลดอัตราการสูญเสียหมูเลี้ยง จากโรคระบาด รวมทั้งส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินทุนทั้งปลอดดอกเบี้ยและดอกเบี้ยต่ำ เพื่อจูงใจให้ผู้เลี้ยงหมูกลับมาเพิ่มปริมาณสุกรเข้าสู่ระบบโดยเร็ว
เริ่มต้นปีเสือทองก็มีเรื่องตื่นเต้นให้รัฐบาลต้องเร่งแก้ไขกันจ้าละหวั่นกันแล้ว! “เนื้อหมูแพง” เป็นเรื่องปากท้องที่ส่งผลกระทบตั้งแต่ต้นน้ำ ยันปลายน้ำ! ถึงเวลาวัดฝีมือ “รัฐบาลลุงตู่” งานนี้จะโดน “อู๊ด อู๊ด” สอยร่วงหรือไม่!?!