หวั่นป่ายับเยิน เหตุ กฟผ.เตรียมทำสายส่งไฟฟ้าแรงสูงผ่าน ป่า ลุ่มน้ำชั้น1รับโครงการผันน้ำยวม
นายกสมาคมลุ่มน้ำสาละวินเผยเร่งรีบทำอีไอเอ พ้อทีขอตั้งเสาไฟเล็กๆเข้าหมู่บ้านกลับถูกห้าม-ชาวบ้านท้ายอ่างเขื่อนภูมิพลเดือดร้อนหนักต้องพายเรือเก็บลำใย
เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2565 นายพงษ์พิพัฒน์ นายกสมาคมฟื้นฟูและพัฒนาลุ่มน้ำสาละวิน เปิดเผยว่าเมื่อวันที่ 26 ตุลาคมที่ผ่านมาได้มีการจัดเวทีปัจฉิมนิเทศ โครงการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โครงการระบบโครงข่ายไฟฟ้า 230 กิโลวัตต์ ลำพูน 3-สบเมย (ส่วนที่พาดผ่านชั้นคุณภาพลุ่มน้ำชั้นที่ 1) ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่หอประชุมอำเภอสบเมย จ.แม่ฮ่องสอน แต่สมาคมฯ และเครือข่ายชุมชนในพื้นที่ อ.สบเมย ไม่ได้รับเชิญเข้าร่วมเวทีแต่อย่างใด จึงไม่มีใครได้รับรู้ข้อมูลโครงการและผลกระทบ ซึ่งเห็นชัดเจนว่าเป็นกระบวนการจัดเวทีที่การรวบรัด และที่สำคัญคือไม่ระบุว่าเกี่ยวข้องกับโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล (แนวผันน้ำยวม) ทั้งๆ ที่โครงการระบบโครงข่ายไฟฟ้าฯ เป็นโครงการที่คู่กับโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนเขื่อนภูมิพล ของกรมชลประทาน
นายกสมาคมฯกล่าวว่า กระบวนการจัดทำอีไอเอสายส่งไฟฟ้านี้ทำให้เหมือนว่าไม่เกี่ยวกับโครงการผันน้ำยวม แต่จริงๆ เป็นชุดโครงการเดียวกันชัดเจน เนื่องจากแผนการสูบน้ำจากแม่น้ำยวมต้องใช้ไฟฟ้าปริมาณมากจึงต้องมีสายส่งไฟฟ้าแรงสูงพ่วงมาด้วย ขณะนี้ประชาชนในพื้นที่ต่างก็เป็นห่วงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น เพราะแนวสายส่งไฟฟ้าแรงสูงจะผ่านพื้นที่อนุรักษ์ทั้งอุทยานแห่งชาติ เช่น อุทยานแห่งชาติแม่เงา ป่าสงวนแห่งชาติ เช่น ป่าสงวนแม่ยวมฝั่งซ้ายและฝั่งขวา ป่าสงวนแห่งชาติอมก๋อย ป่าสงวนแห่งชาติแม่แจ่ม และพื้นที่ต้นน้ำลำธารที่สำคัญ
“ในพื้นที่ จ.แม่ฮ่องสอน แค่จะขอขยายไฟฟ้าเสาเล็กธรรมดาๆ เข้าหมู่บ้านที่ห่างไกลก็ยังทำแทบไม่ได้เลยเนื่องจากติดกฎหมาย เป็นพื้นที่เขตป่าอนุรักษ์ ทำให้ประชาชนในพื้นที่ทุรกันดารเสียโอกาส เราเป็นห่วงผลกระทบระยะยาวจากการทำสายส่งไฟฟ้าแรงสูง การก่อสร้างเสาไฟฟ้า การลากสายไฟฟ้า การตัดถนนเข้าไปตลอดแนวสายส่งไฟฟ้าผ่านรอยต่อ 3 จังหวัด เชียงใหม่ ตาก แม่ฮ่องสอน เป็นห่วงผลกระทบต่อผืนป่า ระบบนิเวศ สัตว์ป่า และชุมชนที่พึ่งพาทรัพยากรป่า การเปิดหน้าดินในเขตป่า จะเกิดตะกอนกองดินที่จะไสลด์ลงลำห้วยและต้นน้ำลำธารซึ่งเป็นระบบนิเวศเปราะบาง นอกจากนี้ยังเป็นห่วงการใช้งบประมาณจำนวนมาก หากนำมาพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนและเสริมการอนุรักษ์จะมีประโยชน์กว่า การจัดเวทีอีไอเอแบบรีบๆ อย่างนี้ยอมรับไม่ได้ หากเกิดผลกระทบแล้วใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ” นายพงษ์พิพัฒน์ กล่าว
ทั้งนี้ในเอกสารที่ กฟผ.แจกจ่ายให้กับชาวบ้านที่เข้าร่วมเวทีการมีส่วนร่วมการศึกษาและจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA)โครงการระบบสายส่งนี้ระบุว่า เป็นการเชื่อมโยงจากสถานีไฟฟ้าแรงสูงลำพูนไปยังสถานีไฟฟ้าแรงสูงสบเมย อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน ระยะทาง 147.07 กิโลเมตร มีส่วนพาดผ่านพื้นที่ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำที่ 1 เป็นระยะทาง 21.19 กิโลเมตร ลักษณะเสาไฟฟ้าเป็นการวางเสาโครงเหล็กผ่านพื้นที่ป่าไม้และพื้นที่เกษตรกรรมไร่หมุนเวียนและนาขั้นบันได โดยมีความกว้าง 40 เมตร กฟผ.ดำเนินการตัดไม่เฉพาะที่เป็นอันตรายต่อแนวสายส่งไฟฟ้าแรงสูงเท่านั้น และเกษตรกรหรือผู้ที่ใช้พื้นที่เดิมยังสามารถทำกิจกรรมการเกษตรกรรมและยังสามารถดำเนินกิจกรรมตามชีวิตประจำวันได้ตจามปกติที่กฏหมายกำหนด
นายศิริวัฒน์ ศิริวิวัฒนวรากุล ชาวบ้านห้วยม่วง ต.แม่สวด อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน กล่าวว่าที่บ้านห้วยม่วง มีการจัดเวทีเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม ชาวบ้านมาร่วมเวทีจำนวนหนึ่ง โดยผู้จัดประชุมให้ข้อมูลว่าจะมาทำสายไฟฟ้าแรงสูง หากมีชาวบ้านที่โดนสายไฟฟ้าพาดผ่านจะมีการชดเชย แต่ต้องมีการคำนวณอีกครั้ง และยังไม่บอกว่าใครบ้างที่จะได้รับผลกระทบ ซึ่งแจ้งว่าเป็นพื้นที่ไร่หมุนเวียนทั้งหมด ชาวบ้านฟังแล้วต่างไม่เห็นด้วย เพราะกังวลว่าหากมีสายส่งไฟฟ้าแรงสูงแล้วจะทำไร่หมุนเวียนไม่ได้ ผู้จัดเวทีก็ไม่ตอบชัดเจน ตอบกลางๆ สถานที่จัดก็ไม่ได้จัดที่โรงเรียนบ้านห้วยม่วงตามที่ระบุในเอกสาร แต่ไปจัดที่บ้านผู้นำชุมชน
ขณะที่นายวันชัย ศรีนวน ผู้ใหญ่บ้านแม่งูด อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ ซึ่งอยู่ในพื้นที่ที่วางแผนจะเป็นปลายอุโมงค์ส่งน้ำ ของโครงการผันน้ำยวม กล่าวถึงสถานการณ์น้ำท่วมที่อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล ว่าขณะนี้ระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพลอยู่ที่ 255.29 เมตรเหนือระกับน้ำทะเลปานกลาง (ม.รทก.) ซึ่งระดับกักเก็บสูงสุด คือ 260 ม. รทก. หลายคนคิดว่าช่วงนี้ฝนไม่ตกแล้วน้ำที่เอ่อท่วมน่าจะลดลง แต่กลับไม่ใช่ อาจเป็นเพราะเขื่อนภูมิพลจำกัดการระบายน้ำ เพราะมีสถานการณ์น้ำท่วมภาคกลางอย่างหนัก
ผู้ใหญ่บ้านแม่งูดกล่าวว่าชาวบ้าน อ.ฮอด ตอนนี้หากไปสวนต้องใช้เรือไปเก็บลำไยและพืชผล อุปกรณ์เช่น ปั้มน้ำต่างๆ ก็ต้องยกขึ้นสูง หรือต่อลอยแพ ชาวบ้านแก้ปัญหากันเองตามยถากรรม
“พื้นที่กักเก็บน้ำของเขื่อน 260 ม.รทก. ก็บอกว่าเป็นพื้นที่ของเขื่อนภูมิพล แต่จริงๆ แล้วเราถูกอพยพมาตั้งแต่มีการก่อสร้างเขื่อนเมื่อ 60 ปีก่อน เราไม่ได้เลือกมาอยู่ตรงนี้ จะซ้ำเติมกันไปถึงไหน เวลาที่เราเดือดร้อนแบบนี้ผู้ศึกษาผลกระทบ รายงาน EIA ไม่เคยเข้ามาอีกเลยหลังจากอีไอเอร้านลาบผ่านแล้ว ชุมชนเราอยู่ตรงนี้ชั่วลูกชั่วหลาน เรารวมเงินกันจ้างช่างภาพมาบินโดรนถ่ายภาพพื้นที่น้ำท่วม เห็นชัดเจนมากว่า ต.นาคอเรือ เดือดร้อนกันหนัก ชาวบ้านต่างคุยกันว่าขนาดไม่มีผันน้ำ ยังเดือดร้อนกันขนาดนี้ หากผันน้ำมาจริงจะรับมือกันอย่างไร จะยิ่งซ้ำเติมพวกเรามากขึ้น หากผันน้ำมาอีกจะให้พวกเราไปอยู่ที่ไหน”
อนึ่งโครงการการศึกษา EIA โครงการระบบสายส่งไฟฟ้า ลำพูน3-สบเมย ของกฟผ. จัดทำโดยการว่าจ้างบริษัทปัญญาคอนซัลแตนท์ จำกัด โครงการเป็นการก่อสร้างระบบโครงข่ายไฟฟ้าแรงดัน 230 เมกกะวัตต์ จากสถานีไฟฟ้าแรงสูงลำพูน 3 ไปยัง อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน ระยะทางประมาณ 147 กิโลเมตร มีส่วนพาดผ่านพื้นที่ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำที่ 1 เป็นระยะทาง 21.19 กิโลเมตร
ทั้งนี้ก่อนหน้านี้เมื่อเดือน มีนาคม 2565 ได้มีการประชุมสรุปผลการศึกษาโครงการ โครงการศึกษาวิเคราะห์โครงการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (4Ps)โครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล แนวส่งน้ำยวม-อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล ซึ่งผู้แทนกรมชลประทานนำเสนอว่าการสำรวจพื้นที่โครงการพบว่ามีประมาณ 29 ครัวเรือนที่จะได้รับผลกระทบ โดยพัฒนาการร่วมทุนเป็นรูปแบบ Public Private People Partnership หัวใจของโครงการคือร่วมมือกันระหว่างภาครัฐ เอกชน ประชาชน เพื่อให้เป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งสำหรับโครงการนี้ กฟผ. ก็มีความสำคัญเพราะโครงการต้องสูบน้ำ เอกสารการประชุมระบุว่ามูลค่าการลงทุน ค่าใช้จ่ายโครงการ งานดำเนินงานและบำรุงรักษา และค่าลงทุนโครงการ อยู่ที่ 172,200.34 ล้านบาท-170,620.36 ล้านบาท
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก
Line @Matichon ได้ที่นี่